สัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมหญิงไทยก่อนเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ 14 – 16 กันยายน 2562
ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล จังหวัดอุดรธานี
วัตถุประสงค์ของการสัมมนาฯ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กลุ่มเป้าหมายด้านการวางแผนและเตรียมความพร้อมเบื้องต้นสำหรับการใช้ชีวิตในต่างประเทศ
กลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ประกอบด้วย
– สตรี และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจหรือมีความประสงค์ที่จะเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ จำนวน 61 คน (หญิง 50 คน ชาย 11 คน)
– ผู้ปฏิบัติงานจากองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา จังหวัดขอนแก่น บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน จำนวน 8 คน (หญิง 4 คน ชาย 4 คน) วิทยากรและเจ้าหน้าที่ จำนวน 10 คน (หญิง 8 คน ชาย 2 คน) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จำนวน 9 คน (หญิง 7 คน ชาย 2 คน) รวมจำนวนทั้งสิ้น 88 คน (หญิง 71 คน ชาย 17 คน)
กิจกรรมในการสัมมนาเป็นกระบวนการแบบมีส่วนร่วม แบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ดังนี้
1) หัวข้อ “บันได 5 ขั้น สานฝันในต่างแดน” โดยคณะวิทยากรสมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค ได้แก่ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท นายอาธิศักดิ์ จอมสืบวิสิฐ และนางสาวภัชรา คติกุล
(1) ขั้นที่ 1 “ถามก่อนการตัดสินใจ” โดยคณะวิทยากรตั้งคำถามเปิดว่า 1) ทำไมจึงอยากไปต่างประเทศ และ 2) รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับประเทศที่จะไป ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ตอบว่า ต้องการไปต่างประเทศเพื่อทำงานหารายได้ และให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศที่ต้องการจะไป และบางส่วนเป้าหมายในการไปต่างประเทศนั้นยังไม่ชัดเจน จากนั้นได้นำเข้าสู่บทเรียนบันไดขั้นที่ 1 “ถามตัวเองก่อนตัดสินใจ” ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนของตนเองก่อนว่าที่ต้องการไปใช้ชีวิตต่างประเทศนั้นด้วยเหตุผลเช่นใด จากนั้นให้ค้นหาข้อมูล เช่น ไปด้วยการสมรส การไปทำงาน สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เช่น ความสามารถในการใช้ภาษา ความพร้อมด้านการเงิน (วีซ่า ตั๋วเครื่องบิน ค่าครองชีพ) ความพร้อมด้านการปรับตัว (สภาพอากาศ วัฒนธรรม การกินการอยู่ ที่แตกต่าง) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ ข้อมูลของนายจ้างและสถานที่ทำงาน การแต่งงานกับชาวต่างชาติต้องเข้าใจวัฒนธรรมครอบครัว รวมถึงค้นหาเกี่ยวกับข้อมูลข้อดีและข้อเสียของประเทศที่จะไปรวมถึงหากมีโรคประจำตัวหรือเจ็บป่วยจะทำอย่างไร ถ้าตอบคำถามได้หมด ก็ให้ก้าวสู่บันไดขั้นที่ 2 ต่อไป
(2) บันไดขั้นที่ 2 “เตรียมพร้อม เมื่อตัดสินใจไปใช้ชีวิตต่างแดน” โดยคณะวิทยากรตั้งคำถามต่อเนื่องจากบันไดขั้นที่ 1 ว่า “การจะไปใช้ชีวิตต่างประเทศนั้นต้องรู้และต้องเตรียมอะไรบ้าง” ซึ่งผลของการอภิปราย ได้แก่
– เตรียมตัวเมื่อจะต้องเดินทาง เช่น สภาพร่างกาย เงินค่าใช้จ่าย ของเครื่องใช้ ของกิน ยารักษาโรค เครื่องมือสื่อสาร ตั๋วเครื่องบิน เอกสารสำคัญ หนังสือเดินทาง วีซ่า และเตรียมใจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง (กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก เปิดใจให้กว้าง)
– ศึกษาข้อมูลจำเป็นเบื้องต้น เช่น วัฒนธรรม อาหาร สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แผนที่ การเดินทาง ข้อมูลสถานทูตไทย กฎหมาย ช่องทางการให้ความช่วยเหลือ ข้อมูลบริษัทที่จะไปทำงาน
– การฝึกฝนภาษา ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ต้องเรียนรู้ภาษาสื่อสารในชีวิต ประจำวัน ภาษาท้องถิ่น ภาษาราชการ โดยเข้าเรียนในศูนย์/สถาบันภาษาที่เปิดสอน
– การเตรียมเอกสารเพื่อขอวีซ่า กรณีไปด้วยการสมรส (ศึกษาสิทธิกฎหมายต่าง ๆ) หรือไปทำงาน (สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด)
(3) บันไดขั้นที่ 3 “เรียนรู้ เพื่อการปรับตัวช่วงแรก” ซึ่งผลของการอภิปราย ได้แก่
– ด้านภาษา สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ฝึกใช้คำพูดสุภาพเพื่อให้ชาวต่างชาติให้ข้อมูล การแต่งกาย ออกไปพบปะกับผู้คน มีสัมพันธ์ที่ดี ร่วมกิจกรรมของชุมชน รู้จักสังเกตพฤติกรรม/วัฒนธรรมของคนในชุมชน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น ข้อควรปฏิบัติ/ไม่ควรปฏิบัติในชุมชน อาจเรียนรู้จากคู่สมรส เรียนรู้ภาษาง่าย ๆ ที่สื่อสารในชีวิตประจำวัน ให้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสามารถสื่อสารภาษาได้มากขึ้น ฟังให้รู้เรื่องมากขึ้น ต้องอ่านและเขียนได้
– การเปิดใจและปรับตัว (ไม่ฝืนมากเกินไป) เรียนรู้และยอมรับในวัฒนธรรมที่แตกต่าง เช่น ธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป ธรรมเนียมการรับประทานอาหาร ละ ลด เลิก วัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ซุบซิบนินทา เหยียดผิว และทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างคู่สมรสเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย เช่น การส่งเงินกลับบ้านที่เมืองไทย
– การเรียนรู้ระบบและสวัสดิการของรัฐของประเทศที่ไปพำนัก เช่น บริการสาธารณะ ประกันสังคม สถาบันการเมือง/เศรษฐกิจ กฎระเบียบต่าง ๆ การลงทะเบียนสำนักทะเบียนราษฎร์ ขอรับใบอนุญาตที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สิทธิในการเรียนภาษาและการประกอบอาชีพ การนำเด็กเข้าเรียน การประกันต่าง ๆ การเปิดบัญชีธนาคาร ฯลฯ
(4) บันไดขั้นที่ 4 “วิถีการใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างมีความสุข” โดยคณะวิทยากรใช้กิจกรรมการวาดรูปเพื่อสะท้อนในหัวข้อว่า “ในอนาคตเราอยากจะเห็นหญิงไทยในต่างแดนเป็นอย่างไร” จากนั้นนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งผลของการอภิปราย ได้แก่ 1) ยอมรับสังคม วัฒนธรรม กฎหมายและสิ่งแวดล้อมในประเทศที่พำนัก 2) ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี และ 3) รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
(5) บันไดขั้นที่ 5 “ข้อตระหนักเมื่อกลับถิ่นฐาน” โดยมีข้อควรตระหนักดังนี้
– ก่อนกลับมาตั้งถิ่นฐานในไทย ให้ถามความสมัครใจของสมาชิกครอบครัว และมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนกลับมา
– เมื่อตัดสินใจกลับมาตั้งถิ่นฐานในไทย ส่วนใหญ่ด้วยเหตุผลการเกษียณจากงาน ให้ตรวจสอบสิทธิที่จะได้รับ ภาระหนี้สินผูกพัน และอาจด้วยเหตุผลภาวะจำยอม เช่น การทำผิดกฎหมายเข้าประเทศ วีซ่าเกินกำหนด การลักลอบเข้าเมือง ก็ให้ยอมรับความจริง และเข้าขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทย
– ต้องศึกษาการตรวจลงตรา การขอวีซ่าและสิทธิในการพำนักในไทยของตนเอง คู่สมรส และบุตร หรือการขอสัญชาติไทยให้กับคู่สมรสและบุตร
2) หัวข้อ “การถ่ายทอดประสบการณ์ผู้เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ” โดย นางผ่องพรรณ พลยศ กลุ่มจิตอาสาคืนถิ่น (เนเธอร์แลนด์) นายณัฐรัฐ ไคบุตร เครือข่ายผู้ประสานงานไทย (จังหวัดอุดรธานี – ญี่ปุ่น) นางทวีพร บรันดท์ เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป (เยอรมนี) ดำเนินรายการโดย นางสาวกรรณนิกา เจริญลักษณ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เนื้อหาโดยสรุป เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ในการไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทั้งก่อนเดินทางไป ระหว่างที่พำนักอยู่ในต่างแดน และภายหลังเมื่อกลับมาอยู่ไทย ซึ่งเป็นประสบการณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อให้สตรีหรือผู้ที่มีความสนใจหรือประสงค์ที่จะแต่งงานกับชาวต่างชาติ และ/หรือเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ได้ตระหนักและรับรู้ และนำไปใช้ในการตัดสินใจ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ
3) หัวข้อ “การเตรียมความพร้อมทักษะอาชีพเพื่อการใช้ชีวิตในต่างประเทศ” โดย คุณปิ่นทอง ลีเฮียง คุณฟาริดา แยงคำ คุณปูริดา ขุนเวียงจันทร์ คณะครูฝึกอาชีพทำผม “ทำเงินแบบไม่ง้อทุน” จากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา จังหวัดขอนแก่น และคุณกมลทิพ พยัฆวิเชียร ครูฝึกทำอาหารชุด “ทำมาหากินได้ทันที” จากคลินิกเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอาชีพ วังรี จังหวัดนครนายก ทั้งนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว
4) การบรรยายพิเศษหัวข้อ “นโยบายการส่งเสริมและป้องกันให้กับเครือข่ายหญิงไทย” โดยนางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เนื้อหาโดยสรุปได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ ซึ่งเป็นผลจากข้อเสนอจากเครือข่ายหญิงไทยในประเทศญี่ปุ่น และอื่น ๆ ที่เสนอให้มีโครงการด้านการเตรียมความพร้อมแก่หญิงไทยก่อนไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทั้งในด้านภาษา การเตรียมตัวด้านอาชีพ การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศ เช่น การให้ความรู้เพื่อป้องกันการถูกล่อลวงเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ นักท่องเที่ยวหญิงหรือกลุ่มแม่บ้านที่อาจตกเป็นเหยื่อในการขนยาเสพติด รวมถึงสตรีและเยาวสตรีต่อการทำงานบริการค้าประเวณีด้วยความสมัครใจ ดังนั้น จึงได้ดำเนินโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมหญิงไทยก่อนเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศในครั้งนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสตรีและบุคคลทั่วไปมีความสนใจหรือประสงค์ที่จะแต่งงานกับชาวต่างชาติ หรือเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และสามารถขยายผลต่อในพื้นที่อื่นได้ต่อไป
ผลการสำรวจความพึงพอใจ พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 52 คน จากผู้เข้าร่วม 69 คน (ร้อยละ 75.4) เป็นหญิง 43 คน คิดเป็นร้อยละ 82.7 และชาย 9 คน คิดเป็นร้อยละ 17.3 ผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจภาพรวมในระดับมากที่สุด ทั้งในด้านเนื้อหา การถ่ายทอดของวิทยากร ความเหมาะสมของระยะเวลา และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ รวมทั้งได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการนี้มากยิ่งขึ้น โดยขอให้เพิ่มหัวข้อเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานระหว่างประเทศ และเพิ่มระยะเวลาในการฝึกอบรมด้านอาชีพ